วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) และคณะฯ ร่วมเปิด “กิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG” ที่ศาลเจ้าปู่-ย่ากุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการ โดยมี ดร.เอกราช ดีงาม ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดีมรภ.อุดรธานี ให้การต้อนรับ
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.อว. เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ มีการทำตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย อว.จะเป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ
“ปี 2566 นี้ อว.จะตอกย้ำด้วยโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG หลังจากใช้แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG เข้าไปพัฒนาผลผลิตของพี่น้องประชาชนจนประสบความสำเร็จ เมื่อมีสินค้าแล้วก็ต้องมีการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด ตรงความต้องการ ซึ่งสิ่งที่ อว.ต้องทำ คือ สร้างความเข้าใจในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG ซึ่ง อว.ได้ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Science Park ,คลินิกเทคโนโลยี, ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป(OTOP) และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Business Incubator : UBI เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้ ซึ่งหากใครสนใจหรือต้องการพัฒนาสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เราพร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ด้วย”
ขณะที่ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สป.อว.) กล่าวว่า การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในพื้นที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย ซึ่งเราได้เห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลว่ามีศักยภาพมาก ในการนำมาสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและยกระดับให้เกิดมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้า BCG เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตระหนักในสิ่งแวดล้อมและยังมีกำลังใจ มีพลังในการขับเคลื่อนท้องถิ่น สร้างรายได้กับชุมชนมากขึ้น สำหรับการผลักดันโครงการเราใช้งบกลาง ระยะเวลา 6 เดือน 1 เม.ย.ถึง 30 ก.ย.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ อว.ก็พร้อมจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ต่อเนื่อง ที่สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ก็ไปจัดกิจกรรมโครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG ต่อ ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดแสดงสินค้า รวมถึงจัดจำหน่ายสินค้า U2T For BCG ออกสู่ตลาดผู้บริโภคด้วยเช่นกัน