ปรากฎการณ์คดีข่าวฆาตกรรมด้วยสารไซยาไนด์ คดีแรงสะเทือนสังคม ยอดค้นหาสุดพีค สะท้อนความสนใจภัยสังคม ขณะที่สื่อมีแง่มุมนำเสนอที่เป็นประโยชน์ ตอบคำถามสังคม ขยายผลความรู้ด้านกฎหมาย สารอันตราย การป้องกันตัว ด้านนักวิชาการห่วงเนื้อหาดาบสองคม แนะขอบเขตไม่ควรลงรายละเอียด จนข้ามเส้นไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ ชี้เป็นกรณีศึกษาและพิสูจน์จุดยืนสื่อเป็นที่พึ่งของสังคมได้
รายการวิทยุ “รู้ทันสื่อกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ประจำวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2566 ออกอากาศทางคลื่น FM 100.5 อสมท. พูดคุยเรื่อง “ข้อควรระวัง ในการแชร์ข่าวไซยาไนด์” ดำเนินรายการโดย ณรงค สุทธิรักษ์ และจินตนา จันทร์ไพบูลย์ ผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย นพรัฐ พรวนสุข บรรณาธิการข่าวการเมือง และยุติธรรม สำนักข่าวผู้จัดการ และกองบรรณาธิการ สถานีข่าวนิวส์วัน (NEWS1) ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ ที่ปรึกษา ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชน ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม มองสถานการณ์สื่อจากคดีนี้ว่า จากการมอนิเตอร์สื่อหลัก และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับคดีนี้ ในส่วนของสื่อมวลชน ก็เห็นได้ว่าพยายามเกาะติดสถานการณ์อย่างจริงจัง จะมีหลายลักษณะ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่เน้นตามกระแสว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นความคืบหน้ารายวัน พร้อมกับจับกระแสของสังคมด้วย เพื่อพัฒนาประเด็นไปตามสิ่งที่คนสนใจ
ในส่วนนี้บางสำนักข่าวก็จะมีการพาดหัวแบบตีตราการใช้ข้อความ หรือชื่อ แล้วก็มีฉายาห้อยท้าย ซึ่งเราก็พยายามรณรงค์กันมากในช่วงหลังว่า ไม่อยากให้มีการคิดนิคเนม ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำผิดก็ตามในลักษณะนี้ แต่ก็ยังพบอยู่ ก็เข้าใจว่าก็คงจะเป็นสีสันของบางสำนักข่าว ที่เล่นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมาประกอบ
ในขณะที่อีกส่วน ก็พยายามหาข้อมูล ทำหน้าที่ตั้งคำถาม ให้สิ่งที่สังคมอยากรู้ว่า ใครเป็นใคร อยู่ตรงไหนบ้าง สืบสวนข้อมูลให้ คนก็จะค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้
รูปแบบคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์
ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คิดว่ามีประโยชน์มากคือ กลุ่มที่พยายามขยายประเด็นในการอธิบายบริบทข้อมูล และตั้งคำถามกับเรื่องแวดล้อมของข้อมูล เช่นเรื่องของตัวสารพิษ มาจากไหน หาได้ง่ายมากน้อยแค่ไหน อันนี้สำคัญมาก เราควรจะให้ความรู้กับคนด้วยประกอบกัน
ขณะเดียวก็ต้องระวังด้วยว่า การหาง่ายได้ที่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้คนทำตาม ซึ่งเป็นดาบสองคม ก็ต้องมีขอบเขต ในการทำให้คนเข้าใจ และต้องระมัดระวังตัวได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเลียนแบบได้
อย่างไรก็ตาม ก็ได้เห็นความพยายามของหลายสื่อ ที่พยายามขยายมุมมองในเรื่องของบริบทผู้กระทำผิด พยายามหาเหตุผลของเรื่องราว ให้เราเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น รวมถึงเรื่องกฎหมาย จริงๆ แล้วถ้าเราเห็นภาพของการให้บริบทแบบนี้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถเข้าใจ เรียนรู้กับเหตุการณ์ได้มากยิ่งขึ้นกว่าแค่การติดตามไปตามกระแส
ส่วนในโซเชียลมีเดีย เท่าที่มอนิเตอร์ดู เห็นชัดมากว่า มีความตื่นตระหนก ก็เข้าใจว่ากรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ รู้สึกว่าอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าสื่อมวลชนรายงานข่าวให้บริบทที่ชัดเจน จะทำให้ความตื่นตระหนกลดลง เป็นการรู้เท่าทันเหตุการณ์ พอเริ่มมอนิเตอร์ ก็เห็นว่าพอเริ่มมีข้อมูลชุดอื่น ๆ ขึ้นมาจากอารมณ์ตื่นตระหนก ก็จะเห็นการเริ่มตั้งคำถาม อยากรู้เพิ่มขึ้นว่า ทำไมมันถึงเกิดขึ้น เราจะป้องกันตัวอย่างไร ไม่ให้เป็นเหยื่อแบบนี้จริง ๆ แล้วกระแสคนในสังคมพูดคุยกัน สื่อก็สามารถต่อยอดประเด็นและตอบสนองความต้องการของคนได้
ยังพบปัญหาจากโซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อน่ากังวลจากการแชร์ในโซเชียลมีเดีย ที่พยายามขุดคุ้ยชีวิตของผู้ก่อเหตุ คนแวดล้อม ซึ่งไม่ควรไปขุด หรือไปดึงคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเค้า แล้วไปตัดสินว่าสมรู้ร่วมคิดด้วย แล้วมีการล่าแม่มด ซึ่งเริ่มมีให้เห็นบ้างในระยะหลัง
เวลาเราดูข้อมูลอะไรก็ตามบนออนไลน์ เราไม่ควรเชื่อเลย 100% ต่อให้เป็นสำนักข่าวเองก็ตาม ขอให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันเป็นแบบนั้นได้เพราะอะไร ทำไมถึงเป็นแบบนั้น มีข้อมูลอื่นอีกไหม อยากให้คนที่เสพข้อมูลบนออนไลน์ มีความรู้สึกตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองฟังและอย่ารับข้อมูลเพียงแค่ช่องทางเดียว หรือสื่อเดียวแล้วเราคิดว่าข้อมูลนั้นหลากหลายแล้ว แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่
อย่าลืมว่า การกรองข้อมูลจากอัลกอริทึม (Algorithm) ให้เรา จากสิ่งที่เราสนใจ ขึ้นมาในฟีดเรา มันไม่ได้รอบด้าน ถ้าเราเห็นข้อมูลอะไรก็ตาม อยากให้เราสืบต่อ ค้นหาต่อ แต่ค้นหาจาก Google ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ขึ้นมาจะเป็นความหลากหลาย 100% เพราะมันก็มาจากอัลกอริทึม ที่มาจากสิ่งที่เราสนใจอีกเหมือนกัน ฉะนั้นเราก็ต้องดูจากข่าวทีวี หรือเข้าไปดูตามสำนักข่าวต่าง ๆ เลยให้มีช่องทางหลากหลายมากขึ้น
ขณะเดียวกันเราก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เช่นเหตุการณ์แบบนี้มันมีอีกไหม เป็นไปได้ไหม เราสามารถค้นข้อมูลเพิ่มได้ บางครั้งเราฟังคลิปสั้น ๆ ใน TikTok หรือ YouTuber มารีวิว ก็จะดูว่าน่าเชื่อถือ แต่ไม่อยากให้เชื่อ 100% อย่างกรณีเรื่องสารพิษ ก็ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เราจะต้องไปฟังข่าว หรือหาข้อมูลจากเขา ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจเหตุการณ์ได้มากขึ้นและเห็นบริบทต่าง ๆ ของเรื่องที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
อีกประเด็นคือ สิทธิของบุคคล แม้จะเป็นผู้ต้องสงสัย แม้ว่าตำรวจจะบอกว่ามีหลักฐานชี้ไป ในฐานะสื่อเราก็ยังสามารถปกป้องสิทธิที่ไม่ต้องถูกจำได้ จนกว่าจะถึงวันที่ตัดสินคดีชัดเจนแล้ว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มาตรฐานของสื่อแต่ละที่ ก็จะแตกต่างกัน บางทีก็ไม่ให้เห็นหน้าเลย สื่อเองก็พยายามทำตามหลักการแนวปฏิบัติที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ในการปกป้องสิทธิของผู้ที่อยู่ในข่าว ก็เป็นความพยายามของสื่อที่จะทำ อย่างไรก็ตามมาตรฐานทางจริยธรรมและแนวปฏิบัติของสำนักข่าวแต่ละประเทศ ก็จะแตกต่างกันแต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิเขาไว้ จนกว่าจะถึงวันที่ศาลตัดสิน
ข้อมูลลึกดาบสองคม ระวังข้ามเส้น
สำหรับการนำเสนอเนื้อหาในสำนวน เรื่องวิธีการสังหารเหยื่อ จะส่งผลกระทบต่อสังคม หรือมีโอกาสเกิดการเลียนแบบหรือไม่ ผศ.ดร.สกุลศรี ระบุว่า มีความสุ่มเสี่ยง ที่เป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง กรณีการฆ่าตัวตายเวลาที่สื่อลงรายละเอียดเยอะ ๆซึ่งเราควรต้องกังวล แต่จะห้ามไม่ให้สื่อบอกเลยก็ไม่ได้ มันก็คือเรื่องของการเตือนภัย เพราะฉะนั้นหลักคิด คือ ขอบเขตที่เราให้รายละเอียด เราพิจารณาได้ว่า ให้เท่านี้ คนสามารถป้องกันและระวังตัวได้ แต่ถ้าเราให้ละเอียดมากกว่านั้น คนก็สามารถทำตามเลียนแบบได้ นี่เป็นสิ่งที่ทุกที่ควรจะคุยกันภายในกอง บก.ก่อนแล้วตัดสินใจขอบเขตการนำเสนอถ้ามันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์คนป้องกันตัวได้ แล้วไม่ข้ามเส้นไปเอาข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด
กรณีข่าวนี้ มีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้เกิดความห่วงใยว่า สื่อนำเสนอข้อมูลเยอะไปหรือไม่ เมื่อรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเกิดการเลียนแบบหรือไม่ ขณะเดียวกันก็อยากรู้เรื่องว่า สารต้องห้าม หามาได้อย่างไร ทำไมถึงหาได้ง่าย ต่อไปจะต้องมีมาตรการป้องกัน การเข้าถึงอย่างไร และจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้
สามารถบอกสังคมได้ว่า ถ้าป้องกันไม่ให้คนเลียนแบบ ทำได้ยากขึ้น จะต้องมีกฎหมายแบบไหนเพิ่มขึ้นไหม วิธีการที่จะเข้าถึงสารอันตรายแบบนี้จะทำอย่างไรต่อไป ต้องให้ความรู้พื้นฐานคนในสังคมหรือไม่ว่า เพราะสังคมยังไม่เคยถูกสอน หรือเรียนรู้ แม้กระทั่งวิธีการเอาตัวรอด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเฝ้าสังเกตอาการ การจัดการกับตัวเอง หากเกิดเหตุแบบนี้ เราไม่เคยมีลักษณะแบบนี้ในการเรียนรู้ระดับโรงเรียน ตอนนี้ระดับนักศึกษา ก็มีการตั้งคำถามเหมือนกัน หากมีประเด็นแบบนี้เพิ่ม ก็จะดีพวกเขาจะได้ป้องกันตัวได้ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันเหตุในสังคมได้มากขึ้น
นำเสนอป้องกันตัว สื่อเป็นที่พึ่งของสังคม
ภาพรวมในการนำเสนอของสื่อในคดีนี้ ผศ.ดร.สกุลศรี มองว่า หลายสื่อทำได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่ได้นำเสนอแค่ความเร้าอารมณ์ แค่อัพเดตเหตุการณ์รายวันเท่านั้น แต่มีความพยายามให้คำอธิบายบริบท การต่อยอดประเด็นรวมถึงเราไม่ค่อยมีเรื่องเสียชีวิตต่อเนื่อง ก็เริ่มทำให้คนเข้าใจ หรือว่ามันคือลักษณะแบบนี้ จะป้องกันตัวเองไม่ให้เข้าไปอยู่ในวงจรนั้นได้อย่างไร
การให้ความรู้ ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เขาสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างเป็นประโยชน์ เพราะเราไม่รู้ว่าวันหนึ่ง เค้าจะตกไปอยู่ในเหตุการณ์ลักษณะนี้หรือไม่ ถ้าเค้าใช้ข้อมูลที่นำเสนอได้ป้องกันตัวเป็นสื่อมวลชนจะเป็นที่พึ่งของสังคมได้จริง ๆ
เน้นเตือนภัยสังคม ในยุคดิจิทัล
การทำข่าวคดีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ที่เกี่ยวข้องกับสารพิษอันตรายไซยาไนด์ (Cyanide) นพรัฐ พรวนสุข มองการนำเสนอข่าวของสื่อท่ามกลางการแชร์ข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับคดีนี้ว่า เรื่องสารไซยาไนด์เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้ว และกฎหมายก็เคร่งครัดอยู่แล้ว เพราะเป็นสารอันตราย ประเภทที่ห้ามซื้อขายกันอย่างเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีช่องทางการซื้อขายออนไลน์ได้ทุกอย่าง ทำให้ของที่ผิดกฎหมายที่สุด ก็ยังสามารถซื้อได้ หาได้ และส่งกันทางโลจิสติกส์สมัยใหม่ เจ้าหน้าที่ไม่มีโอกาสรู้ได้เลยฉะนั้น การทำหน้าที่สื่อในประเด็นนี้ จึงต้องให้ความรู้สังคม
สำหรับสื่อในแง่คดีนี้ ก็สามารถสืบค้นข้อมูลได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ผู้ก่อเหตุพยายามปกปิด เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผู้ก่อเหตุกับเหยื่อแต่ละราย นอกจากญาติของเหยื่อจะออกมาเปิดเผยเองว่ามีลักษณะการตายของญาติ อาการคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับคนที่ถูกวางยาและถูกเปิดเผยจากกรณีคนเสียชีวิตหลังสุด
พฤติกรรมผู้ก่อเหตุ เป็นการปฏิบัติการอย่างเงียบๆ เมื่อไม่มีใครรู้เรื่อง ก็ไม่ได้เกิดข้อสงสัยอะไรเมื่อคดีนี้เป็นประเด็นสำคัญ แนวทางการทำงานของเรา ต้องติดตามให้ชัดเจน ให้ได้เนื้อหา ในเรื่องของกระบวนการ และการกระทำหลังจากเหตุกรณีนี้ เราต้องการรู้ว่าการกระทำของผู้หญิงคนดังกล่าว กระทำโดยลำพัง หรือมีใครอยู่ร่วมในการกระทำนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนด้วยกัน หรืออยู่เบื้องหลังก็ตามอีกทั้งได้เกาะติดในสายตำรวจกองปราบ และมีคนในสังกัดของถูกหลอกเช่นกัน
สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมยุคดิจิทัล ที่เห็นได้จากจุดเริ่มต้นในการกระทำความผิด ที่คนยุคนี้ ใช้เทคโนโลยี ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกติดต่อยืมเงินกัน โอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อพูดคุยกัน กระทั่งบางราย นำไปสู่การส่งยาไปให้กินมันเป็นโลกยุคใหม่ ที่จะมีเหตุการณ์แบบนี้ ให้เราเรียนรู้ต่อไป
ฉะนั้น ข้อเตือนสังคมในแง่การนำเสนอข่าว ประชาชนก็จะได้เรียนรู้จากคดีนี้ว่า การรู้จักใคร ก็ไม่ควรเชื่อใจกันทุกเรื่องการจะมีความสัมพันธ์กับใคร ไม่ควรจะพูดคุยกันเรื่องเงินหยิบยืมเงิน ไม่ควรกินหรือใช้ของที่เค้าส่งมาให้ ก็จะป้องกันตัวเองได้ การนำเสนอข่าวแบบนี้ ก็จะช่วยเซฟชีวิตคนได้อีกเยอะ และเป็นอุทาหรณ์บอกกล่าวกับสังคมต่อไปว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ หากที่สุดแล้ว คดีนี้เป็นการฆาตกรรม ที่มีจำนวนคนเสียชีวิตจำนวนมาก ก็อาจกลายเป็นคดีที่ติดอันดับโลก
ปรากฎการณ์คดีแรง สังคมสนใจ
ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ ระบุว่าในด้านความสนใจของคดีนี้ ถือว่าเป็นข่าวที่ทำให้คนสนใจยอดการสืบค้น คดีนี้ติดยอดค้นหา Googleเป็นเนื้อหาที่มาแรงที่สุดตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมีคนเข้าไปคีย์ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวล่าสุด คนที่ติดตามข่าว มีพฤติกรรมติดตามอย่างต่อเนื่อง แล้วอยากจะรู้ว่า เวลานี้มีอะไรที่อัพเดตบ้าง จากกระบวนการสืบสวนสอบสวนในแต่ละวัน ถือว่ามีสถิติที่สูง และคาดว่า น่าจะติดยอดเทรนดิ้งประจำปีนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า ความสนใจคือ
1.กระบวนการสืบสวนสอบสวน หลังจากเป็นคดีขึ้นมา
2.เป็นเรื่องของแฮชแท็กเกี่ยวกับคดีมีคนสนใจตั้งฉายาผู้ก่อเหตุและคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง จึงมีคนสนใจเรื่องเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมากขณะเดียวกัน ก็เกิดกระแสความสนใจ ที่สื่อทั่วโลกเข้ามาโฟกัสกับข่าวนี้มากขึ้นซึ่งก็มีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงกระบวนการทำข่าวพฤติกรรมการฆาตกรรมต่อเนื่อง
3.ประเด็นที่น่าสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับสารไซยาไนด์ ข้อมูลเกี่ยวกับด้านความเข้าใจเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาตั้งข้อสงสัย
เตือนตระหนักข้อมูลส่วนบุคคล
ฐิติชัย ชี้ว่าวันนี้คอนเทนต์มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเขียนแบบแต่งเติม กระทั่งมีบางเรื่องการใช้ข้อความในการสื่อสารจากคนที่รู้จริง รู้ไม่จริง จึงทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในคอนเทนต์อาจถูกบิดเบือนไป และเริ่มมีผลกระทบข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองผู้มีชีวิตอยู่ซึ่งต้องคำนึงถึงการดึงข้อมูลส่วนบุคคล ผู้เกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย หรือญาติที่เริ่มมีผลกระทบในการใช้ชีวิต บางทีข้อมูลก็มีกันรวบรัดตัดความ บางทีคดียังไม่สรุปไปเอาข่าวอื่นที่มีการฟันธงพาดหัวแบบฟันธงไปแล้วหรือทำให้บางประเด็นทำให้คนเกิดความสับสน อย่างเช่น การประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ก็มีผู้รู้ในด้านกฎหมายออกมาแสดงความเห็นซึ่งก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องกฎหมายต่างๆ ก็เกิดปะทุขึ้นมาได้เหมือนกัน
ฐิติชัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่าขณะนี้ก็ยังมีคอนเทนต์อีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับคดี แต่เป็นเรื่องของการบูลลี่ การแชร์ภาพเป็นอีกเรื่องที่เราต้องมาให้ความรู้
มีแง่มุมเป็นประโยชน์ข้อกฎหมาย
เชื่อว่าคดีนี้ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน ตำรวจน่าจะพิสูจน์ได้ เพียงแต่ว่า ก็ทำให้เราได้เรียนรู้จากหลายปัจจัยที่เป็นมูลเหตุในคดี มาจากอะไรได้บ้าง ทำให้คนได้เข้าใจในเรื่องของกฎหมาย ในสื่อไทยเท่าที่มอนิเตอร์ ก็มีการให้ความรู้เรื่องของสารต้องห้ามที่เป็นอันตราย วัตถุมีพิษ และการป้องปราม การใช้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำให้คนได้ตระหนักว่า กรณีมีการเสียชีวิตที่ญาติไม่ติดใจ หากปล่อยไปเลยตามเลย โดยไม่รู้ว่าอาจจะมีปัญหาเช่นนี้ตามมา หากเราเข้าใจในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เรื่องของกระบวนการสอบสวนนิติวิทยาศาสตร์ คดีจัดการมรดก เรื่องของแชร์ลูกโซ่ ก็เริ่มมีหลากหลายมากขึ้น ภัยคุกคามในไซเบอร์ ซึ่งทุกวันนี้ก็เยอะมากเคสนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้หลายๆเรื่องด้านกฎหมาย
สำหรับแง่มุมที่สื่อมวลชนควรเรียนรู้จากคดีนี้ ฐิติชัย บอกว่า อยากให้เรียนรู้เรื่องวิธีการนำเสนอข่าว แม้สื่อมวลชนส่วนใหญ่จะระมัดระวังเรื่องการนำเสนอข้อมูล เพราะกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการคุ้มครองพยาน ผู้ต้องหา ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฟันธงว่าผู้ก่อเหตุมีความผิด จนกว่าจะตัดสิน ถือว่าคดีนี้เป็นเคสที่ทำให้เราเปิดการเรียนรู้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมถ้าสื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นความรู้ มากกว่าเรื่องฆาตกรรมต่อเนื่องอย่างเดียว คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมมาก ที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากเหตุครั้งนี้ เพื่อประชาชนจะได้ตื่นตัว เรื่องการป้องกันภัยตัวเอง ระมัดระวังการป้องกันเหตุอาชญากรรมได้